EN
TH

เมนู

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (บมจ. อสมท) ดำเนินธุรกิจหลักด้านสื่อสารมวลชน สถานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลุ่มบริการ (Service) หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media)

โดยแปลงสภาพจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547

และกระจายหุ้นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2547 ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นใน บมจ. อสมท ร้อยละ 65.80 ธนาคารออมสินร้อยละ 11.48 และผู้ถือหุ้นรายย่อยร้อยละ 22.72 ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว

สำหรับสัญญาร่วมดำเนินกิจการ (สัญญาสัมปทาน) กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด นั้นสิ้นสุดสัญญา

เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะปานกลาง ปี 2565 – 2567 พิจารณาจากบริบทแวดล้อมทางการแข่งขันของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต และกำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น หุ้นยั่งยืน ภายในปี 2568 ภายใต้วิสัยทัศน์ (Vision) “เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาที่น่าเชื่อถือ เที่ยงตรง และรวดเร็ว” บมจ.อสมท ได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย

การมุ่งสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ

เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้ในระยะยาว

การเพิ่มความสามารถในการสร้างผลกำไรของธุรกิจ

ให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกช่องทาง ตลอดจนการบูรณาการ Platform ในการเข้าถึง Lifestyle ของลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น

การบริหารจัดการเสถียรภาพระบบการเงิน

เพื่อให้ บมจ. อสมท มีสภาพคล่องทางธุรกิจ ในการดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น

เรียนรู้และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชม ผู้ฟัง พัฒนาเนื้อหารายการ

ที่ตรงต่อความนิยม ความต้องการ เพื่อให้เป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

การปรับเปลี่ยนและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

โดยการปรับปรุงกระบวนการทำงานที่สำคัญให้มีประสิทธิภาพ การบริหารการเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น

ธุรกิจโทรทัศน์

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เปลี่ยนชื่อมาจาก “สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท” ที่ดำเนินการแพร่ภาพออกอากาศด้วยระบบสี 625 เส้น ในระบบแอนะล็อก ตลอด 24 ชั่วโมง จากสถานีแม่ข่ายซึ่งตั้งอยู่บริเวณสำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายในส่วนภูมิภาค 35 สถานีทั่วประเทศ

โดยมีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศประมาณร้อยละ 87.0 และมีประชากรในเขตบริการประมาณร้อยละ 88.5 ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ระบบแอนะล็อก ได้ยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ตามกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ของ สำนักงาน กสทช. และตั้งแต่ปี 2557 บมจ. อสมท ได้เริ่มให้บริการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบธุรกิจโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ จำนวน 2 ช่อง คือ ช่องรายการทั่วไป แบบความคมชัดสูง (HD) และช่องรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว แบบความคมชัดปกติ (SD) โดยใบอนุญาตฯ ดังกล่าว มีระยะเวลา 15 ปี เริ่มวันที่ 25 เมษายน 2557 สิ้นสุดวันที่ 24 เมษายน 2572

ทั้งนี้ บมจ. อสมท ได้คืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลช่องรายการในหมวดหมู่รายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว (ช่อง MCOT Family หมายเลข 14 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 10 ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลรายใด ประสงค์จะคืนใบอนุญาตที่ได้รับตามประกาศ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช. และได้ยุติการออกอากาศ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562

ในปี 2564 บมจ.อสมท ยังคงเน้นการนำเสนอผังรายการภายใต้แนวคิด Trusted Content and platform โดยกลยุทธ์หลัก 4 ประการ คือ

  1. กลยุทธ์ความสอดคล้องของผังรายการ โดยจัดวางรายการให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชม และให้มีความต่อเนื่อง
  2. กลยุทธ์ความคุ้มค่าของรายการ โดยมุ่งเน้นการบริหารลิขสิทธิ์รายการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและครอบคลุมทุกสื่อ
  3. กลยุทธ์การสื่อสารตรง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และกำหนดรายการที่ต้องสื่อสารเพื่อให้สะดวกต่อการรับรู้
  4. การให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อของเนื้อหา Content และความน่าเชื่อถือของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD

ทั้งนี้ ยังได้แสวงหาและเปิดโอกาสให้กับพันธมิตรรายใหม่ เพื่อให้ช่องมีเนื้อหา Content ที่หลากหลายรวมถึงเพื่อให้มีเสถียรภาพด้านรายได้

นอกจากนี้ ในปี 2564 บมจ. อสมท ได้เพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิงจาก ร้อยละ 35.35 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 42.55 ซึ่งยังคงนำเสนอละครจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่อย่างต่อเนื่องทั้งในแบบพีเรียดกำลังภายในและโมเดิร์นดราม่า รวมถึงนำเสนอซีรีส์สุดพรีเมี่ยมจากพันธมิตรระดับโลกอย่าง BBC เช่น สามทหารเสือ (The Musketeers), คดีลับเมืองสองโลก (The Kettering Incident) และท้าเป็นท้าตาย (The Living and The Dead) อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นในการผลิตรายการประเภทข่าวสารและรายงานสถานการณ์เพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมได้ตลอดทั้งวัน โดยมีสัดส่วนกว่า ร้อยละ 35.91 เช่น ข่าวเช้า, ข่าวเที่ยง, คุยโขมงบ่าย 3 โมง, เรื่องพลบค่ำ, ข่าวค่ำ, คับข่าวครบประเด็น, คู่ข่าวเสาร์-อาทิตย์, ข่าวต้นชั่วโมง, ฟังหูไว้หู และเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เป็นต้น สำหรับรายการประเภทสาระบันเทิงยังคงเน้นการนำเสนอสารคดีที่น่าสนใจจากทั่วทุกมุมโลกและมีความหลากหลาย เช่น ชีวิตสัตว์มหัศจรรย์ The Wonderful Animals ท่องหล้าน่านฟ้าจีน (Aerial China), อลังการงานจีน และ อลังการงานสร้าง (Grand Space Thailand) เป็นต้น ส่วนกีฬา ได้จัดสรรเวลาถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล TOYOTA Thai League

ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการออกอากาศตามประเภทรายการ (%)

ข่าวและรายงานสถานการณ์
35.91
บันเทิง
42.55
สาระบันเทิง
13.69
สาระความรู้
6.08
กีฬา
1.77

ค่าเฉลี่ยสัดส่วนการออกอากาศตามรูปแบบการผลิต (%)

ดำเนินการเอง
66.74
ร่วมผลิต (Sharing)
13.88
เช่าเวลา
19.38

สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต รวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เน้นความเป็นกลาง ถูกต้อง เชื่อถือได้ และทันเหตุการณ์ โดยนำเสนอผ่านสื่อของบริษัทที่หลากหลาย ได้แก่ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ช่อง 9 MCOT HD หมายเลขช่อง 30 เครือข่ายสถานีวิทยุฯ บมจ. อสมท สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข่าวสารกับสำนักข่าวต่างประเทศและสื่อสำคัญๆ ของโลก

สำนักข่าวไทย Thai News Agency ชื่อย่อ : สขท. : TNA จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2520 เป็นสำนักข่าวแห่งแรกของประเทศไทย และถือเป็นสำนักข่าวระดับชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการผลิต รวบรวม จัดเก็บ และรายงานข่าว เพื่อนำเสนอออกอากาศทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และผ่านทางสื่อดิจิตอล ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกับพันธมิตรต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข่าวของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศทั่วโลก

สำนักข่าวไทย ยึดหลักการนำเสนอข่าวตามมาตรฐานทางวิชาชีพ เน้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้อง เป็นกลาง ตามหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน โดยใช้เทคโนโลยีในการรายงานข่าวที่ทันสมัย และจัดตั้งศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์

สำนักข่าวไทย มีศูนย์ข่าวภูมิภาครับผิดชอบการผลิตข่าวในแต่ละพื้นที่รวม 4 ศูนย์ข่าว คือ ศูนย์ข่าวภาคกลางและภาคตะวันออก ศูนย์ข่าวภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ข่าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ข่าวภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

รูปแบบของการให้บริการข่าวในสื่อต่าง ๆ

1. สื่อโทรทัศน์

รายการประเภทรายงานข่าว ที่ผลิตโดยสำนักข่าวไทยที่ออกอากาศเป็นรายการสด ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD หมายเลขช่อง 30 แบ่งเป็นข่าวภาคหลัก ได้แก่ 9ข่าวเช้า, ข่าวต้นชั่วโมง, 9ข่าวเที่ยง, 9ข่าวค่ำ โดยทุกภาคข่าวหลักมีแถบอักษรข่าว หรือ News Bar และรายการข่าว ได้แก่ รายการเรื่องพลบค่ำ, รายการคู่ข่าวเสาร์ - อาทิตย์, รายการคับข่าว9, รายการนาทีลงทุน, เรื่องง่ายใกล้ตัว

2. สื่อวิทยุฯ

  • ผลิตข่าวให้สถานีวิทยุฯ อสมท เครือข่ายทั่วประเทศในช่วงข่าวต้นชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00 -23.00 น.
  • ผลิตรายการประเภทข่าวให้แก่สถานีวิทยุฯ เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิรตซ์
  • ในช่วงเครือข่าย ทั่วประเทศ ได้แก่
    • ก้าวทันข่าว ออกอากาศทุกวัน เวลา 07.30 - 08.00 น.
    • สรุปข่าวภาคเที่ยง ออกอากาศทุกวัน เวลา 12.00 - 12.30 น.
    • ครบเครื่องเรื่องข่าว ออกอากาศทุกวัน เวลา 18.25 - 19.00 น.
  • ผลิตรายการ “สวนอักษร” ให้กับสถานีวิทยุฯ เอฟเอ็ม 100.5เมกะเฮิรตซ์ ออกอากาศ ทุกวันเวลา 03.00 - 04.00 น. (ผลิตลงแผ่น CD พร้อมออกอากาศ และสิ้นปีจะส่งมอบแผ่น CD ให้มูลนิธิคนตาบอดไทย เพื่อนำไปให้บริการแก่ผู้พิการทางสายตา) โดยเป็นกิจกรรม CSR ของสำนักข่าวไทย

3. สื่อดิจิทัล

เช่น เว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) Facebook, Youtube, Line, Instagram, Twitter, Facebook และ TikTok ซึ่งนอกเหนือจากการนำเสนอข่าวแล้ว ยังมี Facebook Live รายการที่รับผลิตตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างรายได้ทางธุรกิจ

ธุรกิจวิทยุกระจายเสียง

บมจ. อสมท ดำเนินการส่งกระจายเสียงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ด้วยระบบ เอฟเอ็ม และ เอเอ็ม จำนวน 60 สถานี โดยส่วนกลางออกอากาศจากกรุงเทพฯ จำนวน 7 สถานี ด้วยระบบ เอฟเอ็ม พื้นที่บริการครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สำหรับในส่วนภูมิภาค ส่งกระจายเสียงด้วยระบบ เอฟเอ็ม 53 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้ประมาณร้อยละ 92.4 มีประชากรในเขตพื้นที่เป้าหมายที่ให้บริการประมาณร้อยละ 93.8

โดยดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงด้วยตนเองทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ ออกอากาศรายการประเภทต่างๆ ทั้งสาระความรู้และความบันเทิงที่หลากหลายรูปแบบภายใต้ชื่อ “MCOT Radio Network” เครือข่ายทันสมัย ก้าวใหม่สังคมสร้างสรรค์ด้วยปัญญา” เพื่อพัฒนาความรู้ และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพื่อสาธารณประโยชน์และมวลชนท้องถิ่น โดยครอบคลุมและเน้นการเข้าถึงผู้ฟังทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศ ทุกวัย ภายใต้ภาพลักษณ์การเป็นสถานีวิทยุแห่งความทันสมัย ซึ่งนอกจากจะสามารถรับฟังรายการของสถานีวิทยุฯ บมจ. อสมท ผ่านทางคลื่นวิทยุฯ โดยตรงแล้ว ยังมีช่องทางให้ผู้ฟังทั้งในและต่างประเทศ สามารถรับฟังรายการของแต่ละสถานีทั้งรายการสดและรายการที่น่าสนใจย้อนหลังผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.mcot.net และผ่านทาง Application ของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smart Phone และมีการบูรณาการกับช่องทางการติดต่อสื่อสาร Social Network เช่น YouTube, Facebook เป็นต้น

ต่อมา บมจ.อสมท เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดย บมจ. อสมท เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดและชนะการประมูลจำนวน 47 คลื่นความถี่ ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น ได้แก่สถานีคลื่นวิทยุ FM 95.0 Mhz (ลูกทุ่งมหานคร) สถานีคลื่นวิทยุ FM 99.0 (Active Radio) สถานีคลื่นวิทยุ FM 96.5 MHz (คลื่นความคิด) สถานีคลื่นวิทยุ FM 100.5 MHz (MCOT News Network) สถานีคลื่นวิทยุ FM 107.0 MHz (MET Radio) สถานีคลื่นวิทยุ FM 105.5 MHz รวมถึงสถานีวิทยุภูมิภาคของ บมจ. อสมท อีกจำนวน 41 คลื่นความถี่ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ของ Mellow living your pop ให้เป็น online เต็มรูปแบบ

สถานีวิทยุฯ บมจ. อสมท ส่วนกลาง

บมจ. อสมท ผลิตและนำเสนอรายการของคลื่นวิทยุฯ ระบบ เอฟเอ็ม ส่วนกลาง ด้วยเนื้อหารายการที่มีสาระความรู้ที่หลากหลาย ทันเหตุการณ์ รวมทั้งเพลงฮิตที่ผู้ฟังชื่นชอบทุกแนว จากผู้ดำเนินรายการที่เป็นผู้รู้จากทุกวงการ และนักจัดรายการรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียง และเน้นกลุ่มผู้ฟังเฉพาะทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศ ทุกวัย มีพื้นที่ให้บริการทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสถานีวิทยุฯ เอฟเอ็ม มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและรูปแบบ (Positioning) ของแต่ละคลื่นอย่างชัดเจน ดังนี้

  • เอฟเอ็ม 95 เมกะเฮิรตซ์ “LTM FM 95 MHz ลูกทุ่งมหานคร” สถานีเพลงลูกทุ่งเพื่อสังคมอุดมปัญญา นำเสนอเพลงลูกทุ่งสุดฮิตเพื่อชีวิตมีระดับ ให้สาระประโยชน์ความรู้ต่างๆ และครองความนิยมอันดับ 1 ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศทุกวัย ถ่ายทอดโดยนักจัดรายการรุ่นใหม่ นักจัดรายการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ จากศิลปินแห่งชาติ ครูเพลง ศิลปินนักร้อง ฯลฯ และบุคคลทั่วไป ทันสมัย มีสาระความรู้ใกล้ตัว อบอุ่น และใกล้ชิดผู้ฟัง ซึ่งนอกจากจะออกอากาศในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังออกอากาศด้วยระบบเครือข่ายผ่านดาวเทียมไปยังสถานีวิทยุฯ เครือข่ายของ บมจ. อสมท ภูมิภาค ทั่วประเทศ และจากการพัฒนาการดำเนินงานของสถานีทั้งในรูปแบบการนำเสนอรายการและการจัดกิจกรรม เพื่อสร้างกระแสความนิยมและรักษาฐานผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้สถานียังคงได้รับความนิยมอยู่ในอันดับ 1 ของ 40 สถานีวิทยุฯ ในกรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง
  • เอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ “Thinkingradio 96.5” เข้มทุกสาระ ข้นทุกความคิด เข็มทิศสู่ความสำเร็จ : ผู้นำสื่อทางความคิดที่เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ ของกลุ่มผู้นำในทุกวงการบนทุก Platform โดยเป็นแหล่งรวมขุมพลังนักคิดชั้นแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 100 ชีวิต ที่มีความเชี่ยวชาญทุกสาขาที่จะมาวิเคราะห์เจาะลึกให้ผู้ฟังได้รู้เท่าทันรอบด้าน ทันสถานการณ์ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ เทคโนโลยี และการสร้างสมดุลชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้แนวคิด “SURVIVED , SUCCESS and SUSTAINABILITY” ตลอด 24 ชม.
  • เอฟเอ็ม 99 เมกะเฮิรตซ์ “Active Radio” คลื่นเมืองไทยแข็งแรง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สร้างพลังกาย เสริมพลังใจ สนับสนุนพลังปัญญาและความสามัคคี” คลื่นวิทยุที่นำเสนอเรื่องกีฬา ท่องเที่ยว สุขภาพ และกิจกรรมนันทนาการ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ทั้งกายและใจ รวมทั้งมีความสุขกับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการนำเสนอ แหล่งรวมบรรดากูรูกีฬาชั้นแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 100 ชีวิต เป็นคลื่นที่ฟังได้ทุกเพศทุกวัย กับเรื่องราวของกีฬา และสุขภาพ ที่ได้ทั้งสาระและความบันเทิงเป็นผลให้เอฟเอ็ม 99 เมกะเฮิรตซ์ ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบกีฬา และใส่ใจเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีช่วงเวลา 20.00-22.00 น. ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เป็นช่วงเวลาออกอากาศด้วยระบบเครือข่ายผ่านดาวเทียมไปยัง สถานีวิทยุฯ อสมท ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนคนไทยที่เป็นผู้ฟังของสถานีวิทยุฯ อสมท สามารถรับฟังและติดตามความเคลื่อนไหวของกีฬาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรับฟังความรู้เรื่องสุขภาพ กิจกรรมและนันทนาการต่างๆ ไปพร้อมกับผู้ฟังในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิรตซ์ “คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5” สถานีวิทยุประเภทข่าว News&Talk เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงปัจจุบัน ภารกิจสื่อสารมวลชนที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอข่าวความจริง ถูกต้อง รวดเร็ว สร้างสรรค์ ทันเหตุการณ์ เชื่อถือได้ สร้างกระแสให้เกิดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสื่อกลางช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นสถานีวิทยุคลื่นข่าวชั้นนำของประเทศที่ผลิตรายการข่าวคุณภาพตลอดทั้งวัน พร้อมเกาะติด เจาะลึก ทุกสถานการณ์ข่าว มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนเครือข่ายระดับชาติ เป็นสื่อกลางรับแจ้งข่าวสารเตือนภัยและช่วยเหลือสังคม โดยความร่วมมือของสำนักข่าวไทย ทีมผลิตข่าวของสถานี ผู้สื่อข่าว นักข่าวอาสา องค์กรเครือข่ายสื่อพันธมิตรในประเทศและสื่อต่างประเทศ นักจัดรายการ นักวิชาการและวิทยากรข่าวชั้นนำระดับประเทศ Theme : “ข่าวจริง สร้างสรรค์ ทันสถานการณ์ และเชื่อถือได้ Fast and Trusted News”
  • เอฟเอ็ม 107 เมกะเฮิรตซ์ “MET 107” คลื่นเพลงสากลแห่งความทันสมัย นำเสนอเพลงฮิต เพลงใหม่ พร้อมเกาะติดเรื่องราวไลฟ์สไตล์ อินเทรนด์ ภายใต้สโลแกน “For Life and Music” นำเสนอรายการโดยผู้ดำเนินรายการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงเนื้อหาสาระรด้านด้านข่าวจากสำนักข่าวระดับโลกอย่าง BBC

    นอกจากนี้ ยังดำเนินการออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ (Nationwide) โดยมีสถานีวิทยุฯ เอฟเอ็ม ในกรุงเทพฯ 4 สถานี เป็นแม่ข่ายออกอากาศรายการไปยังเครือข่ายในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนี้

    • เอฟเอ็ม 95 เมกะเฮิรตซ์ “LTM FM 95 MHz ลูกทุ่งมหานคร”
    • เอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์ “คลื่นความคิด”
    • เอฟเอ็ม 99 เมกะเฮิรตซ์ “Active Radio คลื่นเมืองไทยแข็งแรง”
    • เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิรตซ์ “MCOT News FM 100.5” ข่าวต้นชั่วโมง ทุกวัน ๆ ละ 13 ช่วง และเกาะติดข่าว กลางชั่วโมง

    ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจภายหลังการประมูลฯ

  • “Mellow” ปรับรูปแบบการดำเนินการเป็นสถานีวิทยุ online เต็มรูปแบบ Mellow Living your Pop แหล่งรวบรวมกลุ่มคนที่ชื่นชอบฟังเพลงสาย IDOL ต่าง ๆ เช่น K-POP J-POP และ T-POP รวมถึงผู้สนใจติดตามซีรีย์จีนและซีรีย์เกาหลี พร้อมทั้งการสร้างเวทีและกิจกรรมส่งเสริมการแสดงออกและความสามารถของเยาวชนไทยสาย IDOL และสาย TPOP ออกสู่าธารณชนด้วยความสร้างสรรค์ อัพเดทข่าวสารของวงการเพลงเกาหลี ทั้งไอดอล เกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ ศิลปินเกาหลี Live Show ออนไลน์ หรือ MV และข้อมูลเจาะลึกวงการบันเทิงเกาหลีและจีนที่กำลังเป็นที่นิยมในกระแส ตลอดจนเปิดโอกาสให้แฟนคลับของไอดอลได้โปรโมทและอัพเดทเรื่องราวของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ กิจกรรมสุด Exclusive และแฟนมีตติ้งของเหล่าแฟนคลับ

สถานีวิทยุฯ บมจ. อสมท ส่วนภูมิภาค

บมจ. อสมท ได้กำหนดแนวทางให้สถานีวิทยุฯ ภูมิภาค เป็นสถานีท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด โดยการผลิตและเสนอรายการที่มุ่งเน้นการเป็นสถานีวิทยุฯ เพื่อสาธารณประโยชน์และมวลชนท้องถิ่น สอดแทรกด้วยสาระความรู้ ไปพร้อมๆ กับการให้ความบันเทิง (Edutainment) และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในรายการโดยแบ่งประเภทรายการที่ออกอากาศได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  1. รายการที่ออกอากาศเพื่อประโยชน์ระดับท้องถิ่น (Local Program) เช่น รายการ “อสมท เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ในท้องถิ่นได้
  2. รายการที่ออกอากาศเพื่อประโยชน์ระดับชาติ (National Network Program) รวมทั้งถ่ายทอดรายการข่าวของสำนักข่าวไทย โดยใช้สถานีวิทยุฯ เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิรตซ์ เป็นแม่ข่ายออกอากาศไปยังสถานีวิทยุฯ ภูมิภาคของ บมจ. อสมท ทุกสถานีทั่วประเทศทุกช่วงต้นชั่วโมง
  3. รายการที่ออกอากาศในลักษณะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ (Nationwide) ซึ่งเป็นโครงการผลิตรายการวิทยุเพื่อออกอากาศให้ประชาชนได้รับฟังพร้อมกันทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศได้เชื่อมโยงข่าวสารถึงกันอย่างทั่วถึง
  4. บริษัทฯ ยังได้พัฒนาการผลิตรายการของสถานีวิทยุฯ ภูมิภาคในรูปแบบกลุ่มสถานี (Cluster) เพื่อสร้างความโดดเด่น และเพิ่มความนิยมให้กับรายการด้วยการให้สถานีวิทยุภายในศูนย์บริหารฯ เวียนกันผลิตรายการ เพื่อออกอากาศที่สถานีวิทยุฯ ภายในศูนย์บริหารฯ
    • ศูนย์บริหารวิทยุฯ ภาคเหนือ
    • ศูนย์บริหารวิทยุฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • ศูนย์บริหารวิทยุฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก
    • ศูนย์บริหารวิทยุฯ ภาคใต้

ธุรกิจให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

บมจ. อสมท เป็นผู้ประกอบการ 1 ใน 4 ราย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริการสิ่งอำนวย ความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ด้วยมาตรฐาน DVB-T2 (Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System) จำนวน 1 MUX โดยสามารถให้บริการช่องรายการโทรทัศน์ระดับชาติ ได้จำนวน 8 ช่องรายการ ประกอบด้วย

  • ช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition-SD) จำนวน 6 ช่อง
  • ช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล แบบความคมชัดสูง (High Definition-HD) จำนวน 2 ช่อง

บมจ. อสมท ได้ดำเนินการขยายโครงข่ายกระจายเสียงและโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลโดยได้ติดตั้งโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 39 สถานีหลัก และ 129 สถานีเสริม เพื่อให้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 95.1 ของจำนวนครัวเรือน นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2560 ซึ่งสอดคล้องตามข้อกำหนดของสำนักงาน กสทช. เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่มีระบบรับสัญญาณแบบ DVB-T2 ประกอบอยู่ในเครื่อง (built-in Tuner) และผ่านกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ (Set top Box)

บมจ. อสมท ให้บริการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล บนโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลระดับชาติ ของ บมจ. อสมท ดังนี้

  1. ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัล แบบความคมชัดสูง (High Definition)
    • ช่อง 9 MCOT HD หมายเลขช่อง 30 ดำเนินการโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
    • ช่องไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดำเนินการโดย บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด
  2. ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัล แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition)
    • ช่องรัฐสภา ช่อง 10 ดำเนินการโดย สำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎร
  3. ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิทัล แบบความคมชัดปกติ (Standard Definition)
    • ช่องสถานีโทรทัศน์ด้านการกีฬาและการท่องเที่ยว T Sports 7 ดำเนินการโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย

ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่

ธุรกิจ Digital Media

รับฟัง รายการย้อนหลังได้ตามความต้องการ (On-Demand) ของทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ระบบคลังสื่อดิจิทัล และสถานีวิทยุฯ MCOT RADIO Network ของ บมจ. อสมท ผ่านอินเทอร์เน็ต บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อีกทั้งเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์กิจการของ บมจ. อสมท และองค์กรร่วมธุรกิจ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดบนสื่อออนไลน์ โดยมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อขยายฐานผู้ชมจากสื่อดั้งเดิมไปสู่สื่อดิจิทัล พร้อมทั้งใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

ธุรกิจ TV Shopping (Shop Mania)

เป็นการใช้เวลาโฆษณาบางส่วนสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำเวลาดังกล่าวมาบริหารจัดการ และใช้ประชาสัมพันธ์สินค้า โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้า และผู้จัดจำหน่ายด้านการขายสินค้า โดย บมจ. อสมท จะสร้างรายได้จากส่วนแบ่งการขายดังกล่าว ซึ่งในปี 2565 บมจ. อสมท ได้มีแผนการคัดสรรสินค้าของตนเอง (Own Product) เพื่อนำมาวางจำหน่ายบน Platform Shop Mania เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกหนึ่งทางของ บมจ. อสมท ต่อไป

ธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ Content ทั้งในและต่างประเทศ (Content Business)

บมจ. อสมท ดำเนินการขายลิขสิทธิ์ Content ทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตในการคัดสรรสื่อที่มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ เพื่อมุ้งเน้นการเผยแพร่ไปยังตลาด Content OTT platform โดย บมจ.อสมท จะมีรายได้จากส่วนแบ่งการจัดจำหน่ายดังกล่าว

ธุรกิจการซื้อขายภาพและวิดิทัศน์บนเว็บไซต์ (The Shot)

ธุรกิจการจำหน่ายภาพข่าว และ วิดิทัศน์ (Footage) ที่มีคุณค่าของประเทศ อันเป็นทรัพย์สินของ บมจ. อสมท มาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล https://theshot.mcot.net/ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการภาพ และวิดิทัศน์ในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ไม่สามารถหาจากแหล่งอื่นได้ ถือเป็นการพัฒนาสู่การสร้างรายได้ก้าวสำคัญอีกทางหนึ่งของ บมจ. อสมท

ธุรกิจ MCOT ACADEMY และ งานบริหารศิลปิน

บมจ. อสมท ได้จัดตั้งหน่วยงาน MCOT ACADEMY เพื่อเป็นสถาบันวิชาการและบริการด้านฝึกอบรม มีภารกิจหลักในการดำเนินการจัดฝึกอบรมวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาความรู้ ทักษะทางวิชาชีพ ให้แก่นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนและผู้สนใจทั่วไป ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมในการประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนร่วมกัน โดยบริหารจัดการในรูปแบบของการจัดหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อม เพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะประสบการณ์ทางวิชาชีพในด้านการบริหาร ด้านการสื่อสาร ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านธุรกิจวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หรือในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ บมจ. อสมท ยังได้จัดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการและพัฒนาศิลปิน ส่งเสริมให้ทำหน้าที่ในงาน พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ผู้ประกาศข่าว สำหรับสื่อภายใน บมจ. อสมท เอง และแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำงานในลักษณะเดียวกันจากธุรกิจสื่อสารมวลชน และธุรกิจบันเทิงภายนอก ตัวอย่าง หลักสูตรและการให้บริการด้านฝึกอบรม

  • หลักสูตร “กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิทัล”
  • หลักสูตร “หลักสูตรการผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง”
  • หลักสูตร “การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสำหรับผู้บริหารระดับสูง”
  • หลักสูตร “การเขียนเพื่อการสื่อสารกับชุมชน”
  • หลักสูตร “ผู้ประกาศในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์”
  • ให้บริการการจัดกิจกรรมทางวิชาการ และการบริการ สังคม เช่น จัดการบรรยายพิเศษด้านสื่อสารมวลชนให้แก่นิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หรือจัดส่งวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษา หรือ หน่วยงานภายนอก